Header Ads

สกสว. ร่วมถกการตั้งโจทย์พัฒนางานวิจัยเชิงมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มุ่งตอบโจทย์สังคม ท่ามกลางภาวะของความไม่แน่นอน .

.วันที่ 8 มีนาคม 2566, รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พร้อมด้วย นายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และ ศ.เกียรติคุณ ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ ภาควิชาสังคมศาสตร์และมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมเสวนาในหัวข้อ “วิจักษ์ วิพากษ์ วิจัย: การตั้งโจทย์ และทิศทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ในภาวะความไม่แน่นอน” รวมทั้งแลกเปลี่ยนในประเด็น “พลังสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์กับทิศทางการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนงานมูลฐาน (Fundamental Fund; FF)” เพื่อเป็นการยกระดับและส่งเสริมให้เกิดผลงานวิจัยด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่มีศักยภาพมากขึ้น ณ ห้องประชุม BEC อาคารคณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร


.รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า เมื่อมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่เร็วขึ้น ทำให้เกิดแรงกระแทกต่อสังคมโดยตรง เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างรวดเร็ว ทำให้งานวิจัยอาจยังไปไม่ทัน รวมถึงการตั้งโจทย์ที่ยังไม่คมพอ ดังนั้น นักวิจัยต้องฝึกการตั้งโจทย์ ฝึกตั้งคำถามซึ่งยังเป็นสิ่งที่ขาด โดยการตั้งโจทย์และทิศทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ในภาวะความไม่แน่นอน ที่แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. งานวิจัยพื้นฐานที่เน้นความเป็นเลิศทางวิชาการและเกาะติดพัฒนาการของศาสตร์ 2. งานวิจัยเชิงอนุรักษ์เน้นการศึกษาและสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น และ 3. งานวิจัยเชิงประยุกต์ที่เน้นการทำร่วมศาสตร์   อื่น ๆ ในการแก้ปัญหาของสังคม โดยเฉพาะท่ามกลางวิกฤตปัญหาของความขัดแย้งในสังคมไทย ที่อาจจะมีความต้องการมนุษยศาสตร์มากกว่าในอดีตที่ผ่านมา เพื่อทำความเข้าใจและจัดการกับความซับซ้อนของมนุษย์ ร่วมตอบโจทย์หรือเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการแก้ไข

ขณะที่ ประเด็นสาธารณะที่สังคมศาสตร์สามารถร่วมขับเคลื่อนในฐานะการวิจัยได้ ประกอบด้วย การลดความเหลื่อมล้ำและการขจัดความยากจน, การส่งเสริมสุขภาวะและความพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร, การส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการแก้ปัญหาความรุนแรงโดยสันติวิธี, การปฏิรูปการศึกษาและการเสริมสร้างพัฒนามนุษย์, การสร้างสังคมเปิดและประชาธิปไตย, การสร้างความรู้เท่าทันและความสามารถในการปรับตัวต่อภูมิรัฐศาสตร์ใหม่, การสร้างความสามารถในการกำกับการพลิกผันทางเทคโนโลยีและรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่, และการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนอยู่ในแผนงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 2 ที่มีเป้าประสงค์ในการพัฒนาสังคมไทยอย่างยั่งยืน


.ด้าน นายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กล่าวว่า จากตัวอย่างช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ความรู้ทางด้านสังคมศาสตร์ได้เข้ามาช่วยในการควบคุมสถานการณ์ 6 ประเด็น คือ 1. การรับรู้ความเสี่ยง 2. ความเข้าใจภาวะผู้นำ 3. การจัดการระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวกับผลประโยชน์ส่วนรวม 4. การสื่อสารสร้างความเข้าใจ 5. การเข้าใจบริบทของสังคมที่เกิดขึ้น และ 6. ปัญหาเรื่องความเครียดจากการกักตัวนานเกินไป เช่น ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า เป็นต้น

“ขณะที่ การใช้งานวิจัยในโลกการเปลี่ยนแปลงที่มีการใช้ความรู้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ส่วนระบบบริหารงานวิจัย ระบบสนับสนุนและจัดการศักยภาพงานวิจัย ต้องมีการบริหารจัดการที่พอดี ให้มีความเสมอกันในแต่ละด้าน ซึ่งประโยชน์ของการวิจัยทางสังคมศาสตร์ ประกอบด้วย 10 ข้อ คือ 1. การใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้แบบ Slow Knowledge และ Fast Knowledge 2. การเข้าใจความซับซ้อนของปรากฎการณ์ทางสังคม 3. การตระหนักถึงความเหลื่อมล้ำ อำนาจและปัจจัยเชิงโครงสร้าง 4. การเคารพในความเป็นมนุษย์ที่แสดงออกแตกต่างหลากหลาย 5. การรู้เท่าทันอคติที่มีอยู่และอาจเกิดขึ้น 6. การระมัดระวังผลพวงที่คาดไม่ถึง 7. การเข้าใจในชะตากรรมหรือความทุกข์ของคนอื่น 8. การเคารพในความคิดเห็นแตกต่างและสามารถแลกเปลี่ยน 9. การสามารถคิดในเชิงตรรกะเชิงซ้อนและเข้าใจข้อจำกัดของเหตุผล และ 10. การให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์ การมองนอกกรอบ” นายแพทย์โกมาตร กล่าวเสริม


.ศ.เกียรติคุณ ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ ภาควิชาสังคมศาสตร์และมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การวิจัยเชิงวิพากษ์ทางสังคมศาสตร์ด้วยวิธีคิดเชิงซ้อน หากไม่นำความคิดเชิงซ้อนมาใช้ จะทำให้ไม่สามารถนำมาใช้กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงได้ ส่วนทฤษฎี นั้น เป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่ต้องเน้นที่ปรากฎการณ์ ประเด็น และปัญหา โดยมองว่าประเด็นทางการวิจัยสังคมศาสตร์ ต้องประกอบด้วย การวิพากษ์วิจารณ์ ด้วยการถกเถียงจากมุมมองที่แตกต่าง เพราะความรู้ที่มีอยู่อาจตายตัว หรือขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ปรากฎ เพื่อปรับเปลี่ยนมุมมองใหม่ ๆ ให้รู้เท่าทันสถานการณ์ สร้างความเข้าใจ ทิศทาง และกระบวนการเปลี่ยนแปลง เพื่อผลักดันทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่หลากหลาย ให้คนทุกกลุ่มในสังคมให้สามารถมีส่วนร่วมมากขึ้น

“ก่อนที่จะตั้งโจทย์ จะต้องตั้งประเด็นปัญหากับความรู้หรือความเข้าใจสามัญ หรือมายาคติต่าง ๆ เพราะความรู้ในปัจจุบันอาจมีลักษณะเป็นเพียงวาทกรรมที่ขัดแย้งหรือย้อนแย้ง โดยเฉพาะในช่วงของภาวะความไม่แน่นอน หรือวิกฤติต่าง ๆ ขณะที่ คีย์สำคัญในการยกระดับนามธรรมของปรากฎการณ์ คือ การรับรู้ว่านามธรรมนั้นทับซ้อนอยู่หลายระดับ ต้องมองลึกลงไปมากกว่าเท่าที่เห็น มองหาเงื่อนไขเชิงโครงสร้าง กระบวนการทางสังคม และพลังในการขับเคลื่อนสังคม เพื่อเปิดพื้นที่ให้เกิดการถกเถียงใหม่ ๆ รื้อถอนมายาคติ ให้เกิดการปรับเปลี่ยนมุมมอง และผลักดันการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง” ศ.เกียรติคุณ ดร.อานันท์ กล่าวสรุป 

No comments

Theme images by sololos. Powered by Blogger.